องค์การบริหารส่วนตำบลดงมูลเหล็ก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ : www.dongmoonlaek.go.th

 
 
ประวัติความเป็นมา

ตำบล “บ้านดงมูลเหล็ก” ก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยมณฑลเพชรบูรณ์ เป็นมณฑลหนึ่งในประเทศไทยซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 มณฑลเพชรบูรณ์ มีข้าหลวงมาปกครอง ซึ่งมีข้าหลวงคนหนึ่ง ชื่อหลวงยกบัตร (ตามหลักฐานการจดทะเบียนของวัดสว่างอารมณ์ซึ่งหลวงยกบัตรมอบที่ดินให้ทางวัด และจดทะเบียน พ.ศ.2440) หลวงยกบัตรมีข้าทาสบริวารมากมายประกอบกับเพชรบูรณ์เป็นสถานที่ปลูกยาสูบได้ดีจนได้รับตราประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้นยาสูบอยู่ในวงกลม หลวงยกบัตรจึงให้ข้าทาสบริวารหาพื้นที่เพื่อปลูกยาสูบ จนมาพบป่าไม้ชนิดหนึ่งชื่อว่าขี้เหล็ก พื้นดินดีมาก จึงให้ข้าทาสถางป่าและปลูกยาสูบจึงเสนอตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น ชื่อว่าบ้านดงขี้เหล็ก(ตั้งตามป่าไม้ที่ถางเพื่อปลูกต้นยาสูบ) ขึ้นกับตำบลสะเดียง ต่อมาหมู่บ้านต้องสังกัดตำบล มีนายมา นวลไม้หอม เป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อนายมา นวลไม้หอม ออกจึงตั้งนายอินทร์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนต่อมา เมื่อประชากรมีมากเข้าก็แยกออกเป็นหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 2 มีนายแปว ก้อนทองเป็นผู้ใหญ่บ้าน และบ้านโคกตั้งเป็นตำบลทางราชการจึงรวมบ้านดงขี้เหล็กเข้าไปด้วย เมื่อหมู่ที่ 1 มีประชากรมากขึ้นอีก จึงแยกออกเป็นหมู่ที่ 3 มีนายลิ แก้วแท้ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และหมู่ที่ 2มีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอีก จึงแยกออกเป็นหมู่ที่ 4 มีนายปลั่ง ปิ่นเกตุ เป็นผู้ใหญ่บ้าน และแยกตัวออกมาจากตำบลบ้านโคกตั้งเป็นตำบลดงขี้เหล็ก แต่ต่อมาเห็นว่าชื่อไม่สุภาพจึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านมาเรียกขานกันว่า“บ้านดงมูลเหล็ก”ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันได้รับการยกระดับจากกระทรวงมหาดไทย ให้จัดตั้งเป็น “ตำบลดงมูลเหล็ก และมีนายแปว ก้อนทอง เป็นกำนันคนแรก เมื่อ นายแปว ออก ก็ตั้งนายลิ แก้วแท้ เป็นกำนันคนต่อมา เมื่อนายลิ แก้วแท้ ออกก็ตั้งนายกลม ก้อนทอง เป็นกำนันคนต่อมา จากนั้นแต่ละหมู่บ้านก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามลำดับ ตำบลดงมูลเหล็ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์มีอาณาเขตพื้นที่ 117 ตารางกิโลเมตร โดยทิศเหนือ มีเขตติดต่อกับตำบลท่าพล ตำบลช้างตะลูดอำเภอหล่มสัก ทิศใต้ มีเขตติดต่อกับตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ทิศตะวันออก มีเขตติดต่อกับตำบลบ้านโคก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ทิศตะวันตก มีเขตติดต่อกับตำบลสะเดียง ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตำบลดงมูลเหล็กมีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน พื้นที่ทั้งหมด 28,645 ไร่ พื้นที่การการเกษตร 19,108 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 67 ของพื้นที่ทั้งหมด) พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะสมกับการปลูกข้าว รองลงมาได้แก่ พืชไร่ และพืชผัก ตามลำดับ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม 3,453 ไร่ ที่ราบ และที่ดอน 25,192 ไร่ มีแม่น้ำป่าสักไหลผ่านทางทิศตะวันตกของตำบลรวมระยะทางยาว 18 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีคลองธรรมชาติ 9 สาย หนองน้ำ บึงและสระสาธารณะ 4 แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปในส่วนของการคมนาคมมีถนนคอนกรีตเข้าถึงทุกหมู่บ้าน และหมู่ที่ 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 7 กิโลเมตร มีจำนวนประชากรในตำบลดงมูลเหล็กประมาณ. 10,036 คน และจำนวนหลังคาเรือน 2,425 หลังคาเรือน เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสมของตำบลส่วนใหญ่เหมาะสมกับการเพาะปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลักรับจ้างทั่วไป มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว พืชผักสวนครัว ถั่วเหลือง ต้นหอม และผักชี ซึ่งเป็นพืชที่ทำรายได้ให้เป็นเงินนับล้านบาทจนเป็นที่กล่าวขานกันว่า “ต้นหอมเงินล้าน” มีการปลูกพืชไร่ นอกจากนั้นยังมีการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย เช่น การทำสวนไม้ผล การปลูกไม้ยืนต้น การเลี้ยงสุกร การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่และไก่พันธุ์เนื้อ และการเลี้ยงปลา เป็นต้น ซึ่งการทำสวนไม้ผลนั้น มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบล และมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และปริมาณรองรับความต้องการของตลาดได้ สำหรับพืชอื่นๆ ข้าวโพดฤดูแล้ง และพืชผักชนิดต่างๆ ถือเป็นพืชที่ทำรายได้ให้เกษตรกรที่สำคัญ และมีการขุดบ่อเลี้ยงปลา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาและตามประเพณีไทยคือ ทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันอาสาฬหบูชาฯลฯ มีประเพณีแข่งเรือยาวที่ลำคลองไม้แดง เป็นประจำทุกปี การแต่งกายแต่งตามแบบไทยและสมัยนิยม มีจัดกิจกรรมวันเด็กเพื่อให้เด็กและเยาวชน กล้าแสดงออกในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของทุกหมู่บ้าน ส่วนภาษาที่ใช้ในการสื่อสารบางหมู่บ้าน (บ้านดงมูลเหล็ก หมู่ที่ 4)มีการพูดภาษาถิ่นไทย (เดิ้ง) ที่ทำให้เกิดความรักในถิ่นฐานเดี่ยวกัน จนมี คำขวัญของตำบลดงมูลเหล็กบ้านคือ “ดงมูลเหล็กมั่งคั่ง หลวงพ่อทั่งศูนย์รวมใจ บุญบั้งไฟลำป่าสัก อนุรักษ์ลอยกระทง มั่นคงประเพณีแข่งเรือ”